การเริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหาร นอกจากทำเลที่ดีหรือวัตถุดิบชั้นเลิศแล้ว ยังมีรายละเอียดมากมายที่ช่วยให้ร้านของคุณ “ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า”
โดยเฉพาะการตั้งชื่อร้านอาหาร หากเป็นชื่อร้านที่มีความโดดเด่นหรือใช้คำที่ติดปากลูกค้า ก็อาจทำให้ร้านอาหารของคุณโด่งดังได้ในชั่วข้ามคืน
วันนี้ Hive จึงอยากมาแนะนำ 5 เทคนิคง่ายๆ ตั้งชื่อร้านอาหารให้ปัง และติดปากลูกค้ามาฝากเพื่อนๆ กันครับ
เทคนิคที่ 1 : กระชับ สั้นๆ ไม่ยืดยาว
ร้านอาหารที่มีชื่อยาวเหยียดมักไม่เป็นที่จดจำของลูกค้า แต่ชื่อร้านอาหารที่สั้นๆ กระชับ และได้ใจความ มักดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้ดีกว่า เราจึงเห็นได้ว่าร้านอาหารส่วนใหญ่มักเลือกใช้คำเพียง 2-5 คำเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คุณสามารถเลือกใช้ชื่อร้านที่ยาวได้ แต่ต้องมั่นใจว่าเป็นชื่อที่แตกต่างหรือมีเอกลักษณ์มากพอ โดยอาจใช้คำเชื่อมให้คล้องจองกัน เพื่อให้อ่านได้สะดวกและติดปากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ร้านอาหาร “โอ้กะจู๋” / ร้าน “โจนส์สลัด” / ร้าน “คุ้มกะตังค์” / ร้านส้มตำ “นัวยกครก” / ร้าน “ตู้กับข้าว”
ขอบคุณภาพจากเพจ facebook สวนผัก โอ้กะจู๋
เทคนิคที่ 2 : ตั้งชื่อร้านให้เชื่อมโยงกับทำเลที่ตั้ง
วิธีนี้เป็นเทคนิคขั้นพื้นฐานที่หลายร้านนำไปใช้ โดยการตั้งชื่อร้านให้น่าสนใจและอาจเพิ่มตำแหน่งที่ตั้ง เช่น เลขที่บ้าน/ร้าน ซอย ถนน หรือย่าน ต่อท้ายเข้าไปด้วย เพื่อให้คนจดจำง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน ร้านอาหารที่บอกพิกัดที่ตั้ง จะเป็นตัวช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจมาทานอาหารที่ร้านอาหารของคุณง่ายขึ้น เช่น เมื่อรู้ว่าร้านอยู่ใกล้บ้าน ก็สามารถขับรถหรือนั่งรถสาธารณะไปทานได้
ตัวอย่างเช่น โรงอาหารศาลาแดง (Saladang dining hall) / ร้านข้าวขาหมู “เจริญแสงสีลม” / ร้านอาหารตามสั่ง “หน่องริมคลอง” / ร้าน “โจ๊กสามย่าน” / ร้านขนมจีนต้นก้ามปู อโยธยา / ร้าน “โบ๊กเกี้ย ท่าดินแดง”
โรงอาหารศาลาแดง ตั้งชื่อตามที่ตั้ง ซอยศาลาแดง 1 ถนนสีลม – ขอบคุณภาพจากเพจ facebook : saladang dining hall
เทคนิคที่ 3 : ชื่อร้าน “น่ากิน และน่าลิ้มลอง”
รู้หรือไม่? ชื่อร้านอาหารที่ “น่ากิน” ก็สามารถเรียกน้ำย่อยของลูกค้าได้ สำหรับการตั้งชื่อร้านให้น่ากินมีวิธีการง่ายๆ โดยอาจหยิบจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ของร้านมาใช้ เช่น ร้านบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง “ย่างเนย” ที่มีจุดขายให้ลูกค้านำ “เนยสด” ไปปิ้งย่างกับเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเลได้ไม่อั้น ซึ่งหากเราลองจินตนาการถึงเนื้อสไลด์ที่ย่างกับเนยหอมๆ ก็คงอยากลองแวะไปทานดูสักครั้ง
ตัวอย่างเช่น ร้านบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง “ย่างเนย” / ร้านสัมตำ “มะละกอหอม” / ร้านอาหารทะเล “อบอร่อย”
เทคนิคที่ 4 : ตอกย้ำจุดขายด้วย “สโลแกน”
สโลแกน เป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความต้องการหรือความอยากทานอาหารมากยิ่งขึ้น สโลแกนที่ดีจะส่งเสริมให้แบรนด์ของร้านเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งบางครั้งสโลแกนที่ติดหูหรือติดปาก ก็สร้างอิทธิพลไปถึงการตัดสินใจซื้อของลูกค้าได้อีกด้วย
การตั้งสโลแกนให้น่าสนใจมีหลายวิธี เช่น
– ใช้คำสั้นๆ เรียบง่าย ได้ใจความ
– สื่อสารตรงจุด หรือกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อ
– โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด
– แสดงถึงความคิดด้านบวกเมื่อได้อ่าน หรือทำให้รู้สึกดีต่อแบรนด์
– หยิบเอกลักษณ์ จุดขาย หรือจุดเด่นมาสร้างสโลแกน
ตัวอย่างร้าน “วัวกิว ก๋วยเตี๋ยวเนื้อพ่นไฟ” / ร้าน “เกาเหลาเนื้อไร้เทียมทานราชวัตร” / ร้าน “โกเบ๊นซ์ ข้าวต้มแห้งภูเก็ต” / ร้าน “ตะบันตำ ตำถาดบันลือโลก” / ร้านส้มตำ “แอบแซ่บ อร่อยอย่างเปิดเผย”
ตัวอย่างร้านอาหารที่ใช้สโลแกน ดึงความสนใจ – ขอบคุณภาพจากเพจ facebook : วัวกิว ก๋วยเตี๊ยวเนื้อพ่นไฟ
เทคนิคที่ 5 : ตั้งชื่อร้านให้เข้ากับ “สไตล์อาหาร” หรือ “ใช้ภาษาถิ่น”
ข้อนี้หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี โดยเฉพาะร้านอาหารจีน เกาหลี และญี่ปุ่นที่ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะเพียงตั้งชื่อร้านให้เป็นภาษานั้นๆ ลูกค้าก็รู้ทันทีว่าอาหารที่เสิร์ฟเป็นของชาติใด
นอกจากนี้ หากร้านอาหารของคุณเป็นร้านตามต่างจังหวัดหรือมีเมนูเด็ดเป็นอาหารประจำภาคต่างๆ คุณก็สามารถใช้ชื่อร้านเป็นภาษาท้องถิ่นหรือดึงเอกลักษณ์ของถิ่นฐานบ้านเกิดออกมาใช้เป็นชื่อร้านก็ได้เช่นกัน เช่น ร้าน “เฮือนม่วนใจ๋” จ.เชียงใหม่ ร้าน “เฮือนลำพูน” จ.ลำพูน หรือร้าน “เลตรัง” จ.ตรัง ซึ่งนอกจากจะเป็นชื่อที่ดึงดูดลูกค้าเข้าร้านแล้วยังแสดงถึงความเป็นกันเองได้อีกด้วย