ร้านดอกไม้ห้องเล็กๆ ขนาด 2 x 2 เมตร บริเวณอารีย์ซอย 1 ขยับขยายกลายมาเป็นร้านกาแฟดอกไม้ที่มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ด้วยความหลงใหลของ คุณแพร พานิชกุล ซึ่งจบปริญญาโท คณะกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เริ่มต้นธุรกิจร้านดอกไม้ขนาดย่อม แต่ด้วยความใส่ใจที่อยากให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการรอดอกไม้ จึงแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งในร้านทำเป็นบาร์เครื่องดื่ม เพื่อตอบโจทย์ที่ตนเองได้ตั้งไว้ แต่การขยายร้านทำไม่ได้ตามที่คิดด้วยขนาดของพื้นที่ คุณแพรจึงต้องเปลี่ยนทำเลร้านใหม่ ให้มีขนาดที่สามารถรองรับลูกค้าเพิ่มเติมในส่วนของร้านกาแฟ ดังนั้นจึงย้ายมายังที่ตั้งร้านปัจจุบัน ซึ่งเปิดมาแล้วถึง 3 ปี จนกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ ที่สามารถสร้างความแตกต่างจากคาเฟ่อื่นๆ ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในขณะนี้
“กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว” Flower in Hand by P ก็เช่นกันที่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่พอสมควร จากการที่ทำเลร้านแห่งใหม่นี้เป็นซอยที่คนสัญจรไปมาค่อนข้างน้อย จำนวนลูกค้าไม่มากอย่างที่ตั้งใจ ในขณะที่ผู้มาใช้บริการสำนักงานเขตฝั่งตรงข้ามก็ลดน้อยถอยลง เพราะเดี๋ยวนี้ทุกอย่างสามารถทำ Online ได้ทั้งหมดแล้ว เช่นเดียวกับการสั่งซื้อดอกไม้ที่ไม่จำเป็นต้องมาหน้าร้านอีกต่อไปในเมื่อเทคโนโลยีสามารถทำให้ทุกอย่างง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้ว ดังนั้นคุณแพรและคุณนิวผู้เป็นสามีซึ่งรับผิดชอบในส่วนของคาเฟ่ต้องระดมความคิดเพื่อให้ธุรกิจที่ทั้งคู่หลงใหลนี้อยู่รอดต่อไปได้อย่างยั่งยืน
คุณนิว กิตติคุณ ชัยวัฒนธรรม
เจ้าของร้าน FLOWER IN HAND BY P. ดูแลในส่วนคาเฟ่
ด้วยความที่เป็นผู้ชายแมนๆ คุณนิว กิตติคุณ ชัยวัฒนธรรม จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้ไม่ได้มีความชำนาญทั้งในเรื่องของอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้นจึงต้องหาจุดขายอื่นของร้านที่โดดเด่นและแตกต่างจากคาเฟ่ทั่วไป ซึ่งหลังจากคิดไม่ตกอยู่หลายครั้ง คุณนิวก็ได้ค้นพบอะไรบางอย่างที่ถูกซ่อนอยู่ในความหลงใหลของภรรยา ในเมื่อเปิดร้านกาแฟควบคู่ไปกับร้านดอกไม้ ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่หาจุดร่วมที่ทั้ง 2 สิ่งจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ไปเลย ดังนั้นคุณนิวจึงตัดสินใจไม่ลงทุนกับเครื่องชงกาแฟสด (Espresso Machine) แต่หันไปศึกษาเกี่ยวกับชา Organic และ Coffee Drip แทน โดยนำดอกไม้มาเป็นส่วนประกอบในการสร้างสรรค์เมนู เพื่อสร้างความแตกต่างจากคาเฟ่ที่มีอยู่นับร้อยในย่านนี้
หลังจากที่เมื่อปีก่อน คุณแพรและคุณนิวได้พยายามสร้างสรรค์เมนู Seasonal ขึ้นมาเพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับร้าน เพราะจำนวนคาเฟ่ที่มีเปิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา แต่ความเป็นจริงแล้วลูกค้ากว่า 70% ของร้าน Flower in Hand by P เป็นลูกค้าขาจร รวมถึงกลุ่มลูกค้าประเภท Café Hopper ที่ส่วนใหญ่มักจะตระเวนเปลี่ยนร้านนั่งไปเรื่อยๆ หาร้านสวยๆ เปลี่ยนบรรยากาศมากกว่า การที่ลูกค้าจะกลับมาเยือนซ้ำอีกครั้งเป็นเรื่องที่หาได้ยาก ทำให้ถือเป็นความโชคดีที่ทางร้านไม่จำเป็นต้องสรรหาอะไรใหม่ๆ มาเสิร์ฟความต้องการของลูกค้ามากนัก เพราะฉะนั้นแต่ละครั้งที่ลูกค้าขาจรเข้ามาใช้บริการในแต่ละครั้ง ก็มักจะได้พบกับความแปลกใหม่และได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เสมอ ส่งผลให้เกิดการแชร์และเช็คอิน ซึ่งถือเป็นการประชาสัมพันธ์ออนไลน์แบบไม่ต้องลงทุนอะไรมากเลยทีเดียว
ตัดภาพไปที่หลายเดือนก่อน บ้านเราเผชิญวิกฤตจาก COVID-19 ทำให้ต้องปิดเมือง เจ้าของธุรกิจต่างปิดตัวลง กลับกันที่นี่เลือกพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการสร้าง Unique Product ขึ้นมา ซึ่งลูกค้าที่สั่งเครื่องดื่มในช่วงดังกล่าวเป็นเซต ทางร้านจะแถมช่อดอกไม้ให้ฟรี 1 ช่อ ทำให้ทางร้านมีจุดขายที่แตกต่างจากร้านคาเฟ่อื่นๆ เมื่อใครนึกถึงร้าน Flower in Hand by P จะนึกถึงเครื่องดื่มที่เป็นเหมือนของขวัญ สร้างจุดแข็งให้กับแบรนด์ตัวเองได้อย่างมั่นคง แน่นอนเลยว่าถ้าหากไม่มีใจรักในสิ่งที่ทำจริงๆ แล้วล่ะก็ โปรเจกต์ของขวัญนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้แน่ๆ
แล้วถ้าถามถึงการวางแผนต่อยอดในอนาคต ทั้งคุณแพรและคุณนิวก็ยังคงให้คำตอบที่ใส่ใจและคำนึงถึงความสำคัญของลูกค้าเป็นอันดับ 1 ด้วยความที่ทั้งคู่ใช้ชีวิตกับดอกไม้เกือบตลอดเวลา ทำให้ตระหนักดีถึงอันตรายจากสารเคมีที่ซ่อนอยู่ ดังนั้นในฐานะของคนรักดอกไม้จึงมีความตั้งใจที่จะทำสวนดอกไม้แบบ Organic ปราศจากสารเคมีขนาดใหญ่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อที่จะส่งต่อให้กับร้านดอกไม้ต่างๆ รวมถึงผู้คนที่จะเป็นคนที่ได้รับช่อดอกไม้ในช่วงเวลาสำคัญ ให้ไม่ต้องเผชิญกับสารพิษที่ปนเปื้อนมากับของขวัญแห่งความยินดี นอกจากนี้จะยังคงคอนเซปต์ คาเฟ่ในสวนดอกไม้ ให้ผู้ที่มาเยี่ยมร้านได้นั่งชิลล์กับบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยดอกไม้สวยๆ แถมไม่มีมลพิษมากวนใจอีกด้วย
ในการพูดคุยครั้งนี้ได้อะไรบ้าง?
รักในสิ่งที่ทำแล้วความรักนั้นจะส่งให้เราลงมือทำทุกอย่างให้ดีที่สุด
ความใส่ใจในรายละเอียดของงานที่ทำและความรู้สึกของคนรอบข้าง มีผลต่อประสบการณ์ต่างๆ ที่เราตั้งใจจะมอบให้ลูกค้าเสมอ
ในวิกฤตมีโอกาส อยู่ที่ว่าเราจะมองหาจนเจอหรือไม่
เพียง 3 สิ่งนี้ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นดีๆ ให้กับใครที่กำลังอยากเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง หรือแม้บางคนที่เริ่มธุรกิจไปแล้ว แต่อาจยังไม่ได้ถึงขั้นหลงใหลก็ยังสามารถนำสิ่งที่ตัวเองมี ไปต่อยอดสิ่งที่ทำอยู่ได้นะครับ
บทความโดย : ณปภัช พิทักษ์ศิริพรรณ