ภาษีที่ “ร้านอาหาร” จะต้องจ่าย ถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้วจริงๆ ก็จะมีภาษีหลักๆ ที่ต้องเสียอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน ทั้งหมดนั้นประกอบไปด้วย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีป้าย และภาษีที่ดิน ซึ่งทั้งหมดนั้นสามารถแจงรายละเอียดออกมาได้ดังนี้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล
อันนี้เป็นเรื่องปกติที่คนไทยทุกคนที่มีรายได้ต้องเสียภาษี ผู้ประกอบการร้านอาหารก็เช่นกัน โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นเสียภาษีได้แบ่งเป็น 2 รูปแบบ นั่นก็คือ ผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งจะต้องนำส่งภาษีจากการคำนวณเงินได้สุทธิมากกว่า 150,000 บาท/ปี โดยที่ถ้าหากเงินได้ต่ำกว่านี้จะยังไม่ต้องเสียภาษี ส่วนการคำนวณเงินได้สุทธิมีหลักการคำนวณคือ เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ ได้มาเท่าไร เอาไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษี และในการเสียภาษีก็จะมีให้เลือกหักแบบเหมาหรือหักตามจริง
ในขณะที่ถ้าหากผู้ประกอบการจดทะเบียนนิติบุคคล เงินได้ที่เป็นกำไรจะต้องถูกนำไปคำนวณเพื่อการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นกัน โดยมีหลักอยู่คือ หากขาดทุนหรือกำไรไม่เกิน 3 แสนบาทของรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปี ไม่ต้องเสียภาษี, เกิน 3 แสนบาทแต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษี 15% และ หากกำไรเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษี 20 % ของเงินกำไร นั่นเอง
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เป็นอีกส่วนที่คนไทยทุกคนจะต้องเสียเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารจะต้องเสียในเรื่องของภาษีการขาย ซึ่งคำนวณ 7% จากยอดขาย และผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องจดเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี นั่นหมายความว่าถ้ารายได้ไม่ถึงก็ยังไม่ต้องเสียภาษีส่วนนี้ครับ
ภาษีป้าย
ตามตัวบทกฎหมายระบุไว้ว่า “ป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือ เครื่องหมายการค้า หรือประกอบกิจการอื่นๆ หรือโฆษณาการค้าเพื่อหารายได้ โดยแสดงเป็น อักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก บนวัตถุต่างๆ” ทั้งนี้จะต้องเสียภาษีทั้งหมดตามพรบ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
โดยภาษีป้ายจะมีการเก็บภาษีจากลักษณะที่ปรากฏ จำแนกออกได้เป็น
ลักษณะป้าย
อักษรภาษาไทยล้วน
อักษรภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ/ภาพ/สัญลักษณ์
อักษรภาษาต่างประเทศล้วน หรือภาษาไทยอยู่ใต้อักษรภาษาต่างประเทศ
ค่าใช้จ่าย: 500 ตารางเซนติเมตร
3 บาท
20 บาท
40 บาท
ดังนั้นถ้าหากว่ากลุ่มลูกค้าของร้านเราส่วนมากเป็นคนไทย ถ้าเป็นอย่างนั้นแนะนำให้ใช้เป็นอักษรภาษาไทยล้วน 100% ดีกว่าครับ เพราะว่าถ้าเป็นภาษาไทยล้วน มีขนาดไม่เกิน 33,333 ตารางเซนติเมตร สามารถเสียภาษีป้ายแบบเหมาจ่ายได้ในเรตขั้นต่ำ 200 บาท/ป้าย/ปี จะคุ้มค่ามากกว่า
สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารทุกท่าน อย่าลืมเช็คให้ดีๆ นะครับ
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ภาษีนี้เป็นภาษีที่เพิ่งมีการประกาศใช้ โดยผู้ที่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้ก็อยู่ที่ว่าที่ดินอันเป็นที่ตั้งร้านเป็นพื้นที่ของเราเองหรือว่าเป็นพื้นที่เช่า ในกรณีที่เป็นพื้นที่เช่าจะต้องมีการตกลงกันกับเจ้าของที่ให้ชัดเจนว่าภาษีในส่วนนี้ใครจะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบ และในส่วนของที่ดินนั้นจะใช้การประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ของราชการ) ส่วนสิ่งปลูกสร้างก็จะใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง (ของราชการ) เช่นเดียวกัน
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
0 – 50 ล้านบาท
>50 – 200 ล้านบาท
>200 – 1,000 ล้านบาท
>1,000 – 5,000 ล้านบาท
>5,000 ล้านบาท
อัตราภาษี
0.30%
0.40%
0.50%
0.60%
0.70%
* พ.ศ. 2563 – 2564
วิธีการคำนวณภาษีที่ดิน มีขั้นตอนไม่ยาก 2 ขั้นตอน
- มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง – *มูลค่าฐานภาษีที่ได้รับการยกเว้น = มูลค่าฐานภาษี
- มูลค่าฐานภาษี x อัตราภาษี = ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
*ในส่วนของการยกเว้น ตรงนี้เป็นสิทธิประโยชน์ของบุคคลธรรมดาเท่านั้น ดังต่อไปนี้
– ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม: ได้สิทธิหักมูลค่าฐานภาษี 50 ล้านบ
– ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคม ของปีภาษีนั้น: ได้รับสิทธิหักมูลค่าฐานภาษี 50 ล้านบาท
– เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคม ของปีภาษีนั้น: ได้รับสิทธิหักมูลค่าฐานภาษี 10 ล้านบาท
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นความรู้เบื้องต้นเท่านั้นนะครับ ซึ่งต้องลงรายละเอียดของแต่ละร้านเพิ่มเติม
บทความโดย : ณปภัช พิทักษ์ศิริพรรณ