จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้คนต่างต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เกิดเป็นการใช้ชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal หน้ากากอนามัยที่เคยหาง่าย กลายเป็นของแรร์สุดหายากในช่วงแรกๆ ของการระบาด ผู้คนพกพาเจลล้างมือติดกระเป๋าเมื่อต้องออกไปข้างนอก และพยายามเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นเพื่อลดความเสี่ยงของเชื้อไวรัส
ขณะเดียวกัน ไวรัส COVID-19 ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจในวงกว้าง โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับแรงกระแทกไปแบบเต็มๆ แล้วช่วงการระบาดของไวรัส พฤติกรรมของผู้บริโภคและมุมมองที่มีต่อร้านอาหาร เปลี่ยนไปอย่างไร ? วันนี้ Hive จะมาสรุปให้เพื่อนๆ อ่านกันครับ
ผู้บริโภคใส่ใจ “ความสะอาด” มากขึ้นเป็นเท่าตัว
วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย เอเจนซี่ในวงการสื่อสารการตลาดชื่อดัง ได้สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยกว่า 800 คน ในช่วงเดือน ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยพบว่า ผู้คนใส่ใจเรื่องสุขอนามัยและความสะอาดสูงถึง 70% ซึ่งเจ้าของร้านอาหารก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น การจัดเตรียมจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ในบริเวณต่างๆ ของร้าน เน้นทำอาหารที่ปรุงสดใหม่และผ่านความร้อนสูง เพื่อกำจัดเชื้อไวรัส ตลอดจนการดูแลรักษาความสะอาดของร้านและพนักงานอย่างเข้มงวด
ผู้บริโภคส่วนใหญ่ “เลี่ยง” ออกไปทานข้าวนอกบ้าน
ข้อมูลของ วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย ยังระบุเพิ่มเติมว่า ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องความสะอาดเมื่อต้องออกไปซื้อของหรือทำธุระภายนอกบ้านถึง 72% และเลือกที่จะรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลมากขึ้น 59% ทั้งนี้ ผู้บริโภคมองว่า ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด การไปนั่งทานอาหารที่ร้านหมายถึงโอกาสติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น เราจึงเห็นได้ว่า ผู้บริโภคหลายคนเลือกทำอาหารกินเองหรือซื้อกลับมากินที่บ้านแทน
ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ “คุณค่าทางโภชนาการ” ของอาหาร
นอกจากการออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอแล้ว ผู้บริโภคยังหันมาทานอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหาร เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงและป้องกันโรคภัยต่างๆ สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารกรุงเทพ ที่ระบุว่า ในปี 2021 ผู้บริโภคจะจับจ่ายซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพและทานอาหารเช้าที่มีประโยชน์กันมากขึ้น