การเดินทางกว่า 16 ปี ของ “Miss Mamon” ร้านขนมมาม่อนที่มีเอกลักษณ์ ได้ส่งต่อความอร่อยให้กับลูกค้าจำนวนมาก และจากความสำเร็จของ Miss Mamon บวกกับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพที่มาแรงต่อเนื่องในช่วง 5-6 ปีที่แล้ว ทำให้เจ้าของแบรนด์อย่าง“คุณวรวุฒิ นิสภกุลธร” ลงมือสร้างแบรนด์ “TAROTO” อีกหนึ่งร้านขนมหวานเพื่อสุขภาพสไตล์ไต้หวันในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วกรุงเทพฯ
HIVEcorps จะพาทุกท่านไปเจาะลึกเบื้องหลังความสำเร็จในการทำแบรนด์มิสมาม่อนและทาโรโตะให้ยิ่งใหญ่ ผ่านบทสัมภาษณ์ของคุณวรวุฒิ ซึ่งเรามั่นใจว่า ท่านที่คิดอยากประกอบธุรกิจร้านอาหาร จะได้รับพลังงานดีๆ เพื่อขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จของธุรกิจอย่างแน่นอน!
เมื่อมีการแข่งขันที่สูงในสินค้าประเภทเบเกอรี่ “Why me?” คือคำถามที่ดังก้องในใจ คุณวรวุฒิ พบว่า ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกสินค้าคือ ความแตกต่าง จุดเด่น หรือความพิเศษที่มีเฉพาะแบรนด์เท่านั้น
“Why me?” สำหรับมิสมาม่อน คือ เบเกอรี่ที่เบานุ่ม ละมุนลิ้น แตกต่างกับเบเกอรี่ชนิดอื่นๆ ที่วางขายในบ้านเรา และนี่คือจุดเด่นและความแตกต่างของเบเกอรี่ชนิดนี้ ทำให้ยืนหนึ่งในวงการขนมมาม่อน
“Why me?” สำหรับทาโรโตะ เป็นขนมหวานสไตล์ไต้หวันสำหรับคนที่รักสุขภาพ หวานน้อย เพื่อตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง และความเป็นของหวานไต้หวันที่แตกต่างนั้นเอง ถึงเอาชนะเหล่าแฟนคลับของหวานสไตล์ยุโรป และเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคชาวไทยได้ไม่ยาก
สิ่งที่ทำให้ Miss Mamon และ TAROTO เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ก็คือ การตั้งชื่อร้านให้ติดปาก คุ้นหู จดจำง่าย และแสดงตัวตนของแบรนด์ได้อย่างชัดเจน
“ตั้งชื่อร้านให้ติดปาก” สำหรับมิสมาม่อน เกิดจากไอเดียในการตั้งชื่อภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง คุณวรวุฒิเล่าว่า ได้ใช้คำว่า Miss Mamon เพื่อสื่อถึงสาวน้อยที่ใส่ใจทุกขั้นตอนในการทำขนม เพื่อส่งต่อความอร่อยและความสุขให้แก่ผู้ที่ได้ลิ้มลองขนมของเธอ ซึ่งคุณวรวุฒิได้ทิ้งท้ายว่า ตอนแรกจะใช้ว่า Mr. หรือ Mrs. แต่จะทำให้แบรนด์ดูมีอายุเกินไป
“ตั้งชื่อร้านให้ติดปาก” สำหรับทาโรโตะ มีแนวคิดคล้ายกับการตั้งชื่อมิสมาม่อน โดยเป็นการรวมคำ 2 คำ ระหว่าง “Taro” (เผือก) มาจากทาโร่บอล หนึ่งในเมนูซิกเนเจอร์ขายดิบขายดีของร้าน และผสมกับคำว่า Potato หรือมันม่วง มันส้ม ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของร้านนั่นเอง
เพียงลองนำจุดเด่นของร้านมาใช้เป็นชื่อร้าน เน้นคำสั้นไม่เกิน 3 คำ ฟังแล้วจดจำได้ทันที ก็จะช่วยให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ของคุณได้!!
Comfort zone อาจเป็นจุดที่ก้าวออกมายาก แต่คุณวรวุฒิ มองว่า การลองทำอะไรใหม่ๆ หรือกล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็จะทำให้เราได้เรียนรู้ ได้เติบโต ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม
“ต้องลองผิดลองถูก” สำหรับมิสมาม่อน คือการเปลี่ยนทำเลที่ตั้งร้าน ซึ่งมิสมาม่อน เริ่มต้นจากร้านขนมเล็กๆ ในปี 2548 จากนั้น 2 ปี ถัดมา ก็ก้าวขึ้นมาขายผลิตภัณฑ์ในห้างสรรพสินค้า โดยเน้นตั้งเป็นบูธหรือเป็นรูปแบบ kiosk (ร้านเล็กๆ ที่ไม่มีรูปแบบตายตัว) ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทว่าเมื่อลองเปิดเป็นสไตล์ร้านคาเฟ่ขนาดใหญ่ขึ้น ก็พบว่า คาเฟ่ไม่เหมาะกับมิสมาม่อน เนื่องจากเบเกอรี่ส่วนใหญ่ของร้านเน้น Grab and Go ต่างจากเมนูไอศครีมหรือขนมเค้กที่เหมาะสมกว่า
คุณวรวุฒิ จึงกลับมาเน้นเปิดร้านแบบ Grab and Go และในช่วงวิกฤตโควิด ก็เริ่มทดลองขยายธุรกิจไปยังปั๊มน้ำมัน ซึ่งเป็นตลาดที่การแข่งขันยังไม่สูงมาก นับเป็นเส้นทางธุรกิจที่ต้องจับตาดูกันต่อไป
“ต้องลองผิดลองถูก” สำหรับทาโรโตะ คือ การพิสูจน์เพื่อตอบโจทย์มุมมองความคิดของลูกค้าที่ว่า ขนมหวานเพื่อสุขภาพไม่มีอยู่จริง คุณวรวุฒิได้พิสูจน์แล้วว่าสูตรที่เหมาะกับคนที่ชอบทานของหวานแบบหวานน้อยมีอยู่จริง ด้วยการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพ จนประสบความสำเร็จในที่สุด และกลายเป็นแบรนด์ที่ติดอกติดใจลูกค้ามาได้จนถึงปัจจุบัน
คนไทยส่วนใหญ่มีความสุขที่ได้เลือกซื้อสินค้าจากความหลากหลาย ยิ่งมีตัวเลือกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดึงดูดใจลูกค้าให้เลือกซื้อสินค้าของเรามากเท่านั้น คุณวรวุฒิ เห็นถึงพฤติกรรมลูกค้าดังกล่าว จึงนำมาปรับเป็นกลยุทธ์ของร้านมิสมาม่อน และทาโรโตะ
“คนไทยชอบวาไรตี้” สำหรับมิสมาม่อน จะเน้นเบเกอรี่ที่มีหน้าตาและรสชาติให้เลือกมากมาย โดยเฉพาะขนมมาม่อน ซึ่งเป็นขนมซิกเนเจอร์ของร้าน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวานิลลาชีส ใบเตย กาแฟ หรือชูการ์ฟรี ส่วนท็อปปิ้งโรยหน้าขนมก็มีหลายแบบ เช่น เชดด้าชีส ธัญพืช หรือฝอยทอง และมีตัวเลือกอีกมากมายสำหรับช่วงเทศกาลต่างๆ
“คนไทยชอบวาไรตี้” สำหรับทาโรโตะ แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นแบรนด์ที่เน้นขนมหวานเพื่อสุขภาพ แต่ทาโรโตะเชื่อว่า อาหารดีๆ ก็อร่อยและชวนให้เราสนุกได้ เริ่มตั้งแต่ “ทาโร่บอล” แป้งกลมๆ ที่ทำจากธัญพืช 4 ชนิด โดยเฉพาะมันม่วงที่นำเข้าจากเมืองคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น เลือกอร่อยสดชื่อได้กับน้ำแข็งเกรดหิมะ นมสด หรือเฉาก็วยก็ได้ นอกจากนี้ยังมีเมนูของหวานเพื่อสุขภาพอีกเพียบ!