จาก “นพดลฟาร์ม” สู่ “ชยพลฟาร์ม” เปลี่ยนมือ ไม่เปลี่ยนคุณภาพ
“คุณนพดล อังศุภัทร์” คุณพ่อของ “คุณชยพล อังศุภัทร์” ได้เริ่มทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 โดยยึดหลักการเลี้ยงแบบออร์แกนิคหรือไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ท่านอยากให้ผู้บริโภคได้ทานอาหารดีๆ ปลอดภัย มีคุณภาพ ท่านบอกเสมอว่า “กล้าเลี้ยงเอง ก็ต้องกล้ากินเองด้วย” ไม่ใช่ว่าตัวเอง เลี้ยงกุ้ง ให้โตมา แต่พอจะกิน ยังไม่กล้ากินเองเลย
ต่อมาเมื่อคุณพ่อนพดลได้จากไป จึงส่งต่อธุรกิจฟาร์มกุ้งให้กับคุณชยพล หลังจากที่ได้รับสืบทอดธุรกิจฟาร์ม คุณชยพลก็ได้ยึดถือหลักการเลี้ยงกุ้งแบบออร์แกนิคเช่นเดิม ถึงแม้ว่าการเลี้ยงแบบนี้ จะทำให้เลี้ยงยากขึ้นและต้องประสบกับต้นทุนที่สูงกว่าปกติ เพราะว่าต้องทำให้ดินและน้ำสะอาดอยู่ตลอด อีกทั้งต้องคอยควบคุมค่าแร่ธาตุต่างๆ อย่างใกล้ชิดมากขึ้น แต่คุณชยพลก็ยังคงสานต่อเจตนารมณ์แบบเดียวกับคุณพ่อก็คือ อยากให้ผู้บริโภคได้ทานอาหารดีๆ มีคุณภาพ และปลอดภัย
จนกระทั่งปีพ.ศ. 2561 คุณชยพลได้รับการติดต่อจากเพื่อนสมัยเรียน ซึ่งเปิดร้านอาหารอยู่ในห้างสรรพสินค้า บอกว่าอยากได้กุ้งแช่แข็ง แกะเปลือก ผ่าหลัง ดึงไส้ ไว้หาง แบบที่ยังคงความเป็นกุ้งอยู่ ไม่ใช่กุ้งเด้งที่มีขายอยู่ทั่วไป คุณชยพลจึงได้เริ่มโปรเจ็กต์ และทำการซื้อขายกันต่อมา โดยตั้งชื่อว่า “บริษัท คนเลี้ยงกุ้ง จำกัด” ซึ่งเป็นชื่อที่บอกตัวตนได้ชัดเจน ว่าจุดแข็งบริษัทนี้คือการเลี้ยงกุ้ง ทำธุรกิจเกี่ยวกับการขายกุ้ง และเชี่ยวชาญในเรื่องของฟาร์มกุ้ง
จนกระทั่งปีพ.ศ. 2561 คุณชยพลได้รับการติดต่อจากเพื่อนสมัยเรียน ซึ่งเปิดร้านอาหารอยู่ในห้างสรรพสินค้า บอกว่าอยากได้กุ้งแช่แข็ง แกะเปลือก ผ่าหลัง ดึงไส้ ไว้หาง แบบที่ยังคงความเป็นกุ้งอยู่ ไม่ใช่กุ้งเด้งที่มีขายอยู่ทั่วไป คุณชยพลจึงได้เริ่มโปรเจ็กต์ และทำการซื้อขายกันต่อมา โดยตั้งชื่อว่า “บริษัท คนเลี้ยงกุ้ง จำกัด” ซึ่งเป็นชื่อที่บอกตัวตนได้ชัดเจน ว่าจุดแข็งบริษัทนี้คือการเลี้ยงกุ้ง ทำธุรกิจเกี่ยวกับการขายกุ้ง และเชี่ยวชาญในเรื่องของฟาร์มกุ้ง
จากจุดเริ่มต้นนี้ ได้แก้ปัญหาที่คุณชยพลพยายามทำมาหลายปีก็คือ ได้เริ่มต้นธุรกิจขายส่งโดยตรงถึงร้านอาหารด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านตลาดกลาง ซึ่งปัญหาที่เกษตรกรทุกคนต้องเจอก็คือ ราคาที่ขายหน้าฟาร์มหรือหน้าสวน เขาให้ราคาเท่าไหร่ก็ต้องขายเท่านั้น เกษตรกรจะเป็นคนกำหนดราคาเองไม่ได้ โดยช่วงแรกคุณชยพล ได้พยายามทำขายสินค้าตรงเอง แต่ก็เจอกับปัญหาในด้านต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การขนส่ง การเก็บสต็อคสินค้า แรงงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายพวกนี้ยิ่งทำน้อยเท่าไหร่ ต้นทุนเฉลี่ยต่อกิโลกรัมก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ต้นทุนจะสูงจนร้านค้าไม่สามารถรับได้ แม้ว่าจะเป็นการส่งกุ้งโดยตรงจากฟาร์ม
แต่การที่ได้ออเดอร์ล็อตใหญ่จากร้านอาหารใหญ่ ก็ทำให้ช่วยแก้ปัญหาต้นทุนเฉลี่ยต่อกิโลกรัมลงไปได้ และประจวบกับการขนส่งสมัยใหม่ เริ่มที่จะมีบริการส่งอาหารแช่แข็งแล้ว จึงทำให้คุณชยพลเริ่มขยายธุรกิจต่อมาได้เรื่อยๆ ซึ่งมีลูกค้าร้านอาหารและโรงแรมมากมาย ใช้กุ้งจากชยพลฟาร์มไปปรุงอาหารให้ลูกค้าได้ทานกัน
จุดเด่นของกุ้งชยพลฟาร์มที่ทุกคนชื่นชอบก็คือ เลี้ยงโดยปลอดสารเคมี มีใบรับรองตรวจสารตกค้างจากกรมประมง แช่แข็งโดยไม่แช่สารฟอสเฟตที่ทำให้กุ้งเด้งและทำการแช่แข็งโดยใช้เครื่อง Blast Freezer ดำเนินการโดยโรงงานคุณภาพส่งออก
ส่วนปัญหาเล็กๆ ในการทำตลาดที่คุณชยพล ได้กระซิบบอกมานั้นก็คือเรื่องของ Net Weight ซึ่งอาหารแช่แข็งส่วนใหญ่จะมี Gross Weight หรือ Net Weight กำกับอยู่หน้าถุง Gross Weight ก็คือ น้ำหนักสุทธิก่อนละลายและ Net Weight คือน้ำหนักสุทธิหลังละลาย ซึ่งกุ้งแช่แข็งในตลาดส่วนใหญ่จะมี Net Weight อยู่ที่ 70-80% ซึ่งหมายความว่ากุ้งแช่แข็ง 1 กิโลกรัม พอละลายออกมาแล้วจะเหลือ 700-800 กรัม นั่นเอง โดยกุ้งแช่แข็งในลักษณะนี้จะมีก้อนน้ำแข็งเกาะที่อยู่ตัวกุ้งอย่างเด่นชัด และยังให้ความรู้สึกว่าราคาต่อกิโลกรัมถูกด้วย เป็นเทคนิคในการตลาดที่ผู้ผลิตใช้กัน แต่กุ้งจากฟาร์มของคุณชยพลนั้น เน้นความพรีเมี่ยม สวยงามและสะดวกต่อการใช้งาน จึงได้ตัดสินใจทำกุ้งแช่แข็งแบบ Net Weight 100% ซึ่งการตัดสินใจแบบนี้ทำให้การสื่อสารกับลูกค้าเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะจะทำให้ราคาต่อกิโลกรัมนั้นสูงกว่าในตลาด ในการเสนอขายกุ้งแต่ละครั้ง ต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจถึงหลักการของ Net Weight และราคาต่อกิโลกรัมหลังละลาย ซึ่งราคาไม่ได้ต่างกันเลย เพราะว่าลูกค้าจะได้จำนวนกุ้งที่เพิ่มขึ้นจากน้ำหนักที่หายไป 200 กรัม ทำให้การจบดีลงานแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลามากกว่าปกติ แทนที่จะดูกันที่ราคาอย่างเดียว
เคล็ดลับในการขับเคลื่อนธุรกิจของบ.คนเลี้ยงกุ้ง คือ “การไขว่คว้าโอกาสและเรียนรู้” อย่างที่ทุกท่านทราบว่าธุรกิจของคุณอ๊อบนั้น เริ่มจากการทำฟาร์มกุ้ง แต่เมื่อมีโอกาสผ่านการสั่งซื้อกุ้งเข้ามามากๆ เข้า คุณอ๊อบก็ได้มีการศึกษาและเรียนรู้ในเรื่องการซื้อ-ขาย การทำบริษัท ไปจนถึงเรื่องการทำบัญชี การขนส่งต่างๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับโอกาส เมื่อมีโอกาสจะได้คว้าไว้ได้ทันทีนั่นเอง
ส่วนการปรับตัวในยุคโควิดนั้น ต้องบอกก่อนว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตโรคระบาดขึ้นนั้น ยอดขายจากการขายส่งนั้นหายไปค่อนข้างมาก แต่แล้วคุณอ๊อบก็ได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการหันไปเน้นทำการตลาดเพื่อค้าปลีกแทน เพราะการที่คนไม่กล้าออกไปทานอาหารที่ร้าน นั่นแปลว่าผู้บริโภคได้ปรับพฤติกรรมหันมาซื้อวัตถุดิบ เพื่อมาทำอาหารเอง ยอดขายที่ได้มาจึงเป็นแค่การโยกรายรับจากฝากค้าส่งมาสู่ฝั่งค้าปลีกเท่านั้น
และแน่นอนว่า ทั้งในอนาคตอันใกล้หรือไกลก็ตาม สินค้าของทางบ.คนเลี้ยงกุ้ง ก็จะยังคงเน้นการค้าส่งและค้าปลึกธุรกิจกุ้งแช่แข็งต่อไป แต่อาจมีการเพิ่มไลน์ของโปรดักส์ที่เป็นอาหารพรีเมียม เช่น อาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น อย่าง หอยนางรม ที่มีรสชาติอร่อย ปลอดสารเคมี และเข้ากับคอนเซปต์อาหารออร์แกนิกของบ.คนเลี้ยงกุ้งได้ดี โดยมุ่งเน้นถึงการเป็นบริษัทแนวหน้า ที่ยืนหนึ่งเรื่องคุณภาพและความสด ใหม่ ที่ไม่ว่าลูกค้าเก่าหรือใหม่ก็ยังคงติดใจ และมอบความไว้วางใจให้ตลอดกาล