งบกำไรขาดทุน หรือ Profit And Loss (P&L) เป็นงบการเงินที่แสดงผลการดำเนินงาน ทั้งรายรับและรายจ่ายของกิจการร้านอาหาร ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่จะต้องไม่เกิน 1 ปี เพื่อวัดผลการดำเนินงานของธุรกิจว่ามีรายได้และค่าใช้จ่ายในรอบระยะเวลานั้นเท่าใด และเมื่อนำรายได้หักค่าใช้จ่ายแล้ว จะเป็นกำไรสุทธิ (Net Income หรือ Net Profit) หรือขาดทุนสุทธิ (Net Loss) มากน้อยเพียงใด เพื่อให้ทราบผลกำไร หรือขาดทุนเหล่านั้นว่า มาจากส่วนใด และเจ้าของร้านจะได้เอาข้อมูลส่วนนี้ ไปวิเคราะห์และวางแผนดำเนินธุรกิจต่อไป
การคำนวณงบกำไรขาดทุน
- ใช้สูตร : รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไร (ขาดทุน) สุทธิ
- รายได้ มี 2 ประเภท คือ รายได้จากการขายและบริการ ส่วนรายได้อื่นๆ คือ รายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานตามปกติ และไม่ได้มาจากธุรกิจหลักของกิจการ ซึ่งเจ้าของร้านไม่ควรให้น้ำหนักกับรายได้ส่วนนี้จนเกินไป
- ค่าใช้จ่าย เกิดจากการขายสินค้าตามรายการ 4 ประเภท ได้แก่ ต้นทุน ค่าแรง ค่าเช่า และค่าดำเนินการ
- เมื่อนำตัวเลขมาใส่สูตรการคำนวณงบกำไร/ขาดทุนแล้ว คุณก็จะได้รู้ว่าร้านอาหารมีความสามารถในการทำกำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่ โดยมีการแบ่งระดับกำไรได้ 3 ระดับ ซึ่งการวัดผลของแต่ละระดับจะแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- กำไรขั้นต้น : กำไรที่หักจากต้นทุนวัตถุดิบเท่านั้น โดยเมื่อนำมาคำนวณอัตราส่วนกำไรขั้นต้นต่อยอดขายแล้ว ก็จะสามารถวัดประสิทธิภาพการบริหารต้นทุน และการผลิตของธุรกิจได้
- กำไรจากการดำเนินงาน : กำไรที่หักจากค่าใช้จ่ายวัตถุดิบ และการดำเนินงาน รวมกับการหักต้นทุนเงินเดือนพนักงาน ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งกำไรส่วนนี้ นำมาวัดประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจได้
- กำไรสุทธิ : กำไรที่หักจากค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว รวมถึงค่าเสื่อม ค่าดอกเบี้ย เงินกู้ระยะยาว และค่าภาษี ซึ่งกำไรส่วนนี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกำไรทั้งหมดของธุรกิจ ว่าผลประกอบการมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งการที่มีกำไรสุทธินั้น ต้องมีรายได้ที่มากกว่าต้นทุนขาย
การควบคุมต้นทุน
- ต้องมีขั้นตอนที่ใช้ในการดำเนินการ ทั้งการวางกฎระเบียบหรือสร้างข้อจำกัดต่างๆ ในร้านอาหาร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้
- วิธีการที่เจ้าของร้านใช้ควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อให้สินค้าและบริการนั้น เป็นไปตามมาตรฐาน หรือเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่ต้องใช้ต้นทุนต่ำที่สุด
ประโยชน์ของงบกำไรขาดทุน
สำหรับผลประโยชน์ของงบกำไรขาดทุนนั้น เพื่อให้เจ้าของร้านได้เห็นถึงผลประกอบการในช่วงระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงรายละเอียดที่เกี่ยวกับรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด สุทธิแล้วมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่
นอกจากนี้ คุณยังได้ทราบเกี่ยวกับอัตรากำไรขั้นต้น และกำไรสุทธิ ที่แสดงถึงประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และความสามารถของเจ้าของร้านในการควบคุมต้นทุนร้านอาหาร รวมทั้งคุณยังได้เห็นถึงกำไร-ขาดทุนที่เกิดขึ้นในแต่ละงวด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของกำไรสะสม และคาดการณ์เงินปันผลที่จะได้รับ ซึ่งหากนำงบการเงินหลายงวดมาวิเคราะห์ ทำให้ทราบแนวโน้มของรายได้ ยอดขาย ต้นทุน และค่าใช้จ่าย รวมทั้งอัตราการทำกำไร และการคาดการณ์ยอดขายล่วงหน้า เพื่อใช้ในการวางแผนทางธุรกิจ หรือประกอบการตัดสินใจลงทุนขยายกิจการ
แหล่งที่มา: duangkamol13.blogspot.com