ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาขยะจากร้านอาหาร (Food Waste) ได้สร้างความปวดหัวให้กับเจ้าของร้านอาหารหลายคน โดย Food Waste แทบจะเกิดจากทุกกระบวนการในร้านอาหาร ตั้งแต่ขั้นตอนการรับวัตถุดิบ การตัดแต่งวัตถุดิบ การปรุงอาหาร จนถึงการจัดจาน
🥡 และในวันนี้ HIVE ก็ขอมาแชร์ 7 วิธีรับมือ Food Waste ลดขยะง่ายๆ ในร้านอาหาร ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มกำไรให้กับร้านอาหารของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพกันนะครับ
1. วางแผนสต๊อกวัตถุดิบ
ครัวที่ดีควรมีระบบจัดการสต๊อกวัตถุดิบ เริ่มต้นจากการกำหนดสต๊อกขั้นต่ำ หรือการวางแผนว่าวัตถุดิบที่ใช้ในแต่ละวัน ควรมีปริมาณเท่าใดบ้าง หากจำเป็นต้องซื้อเพิ่ม ควรซื้อในปริมาณเท่าใด ซึ่งผลดีของการจัดสต๊อก ทำให้ร้านอาหารซื้อของมาได้พอดี เพียงพอกับความต้องการของร้าน และช่วยลดควมเสี่ยงของวัตถุดิบที่อาจเน่าเสียจากการเก็บไว้นานเกินไป
2. ทำความเข้าใจ วันหมดอายุ
ผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบต่างๆ มักระบุวันหมดอายุบนฉลากสินค้าแปะมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น Expired Date (EXP) หรือ Best Before (BB / BBE) ซึ่งการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ 2 คำนี้ ก็ช่วยลดปัญหาขยะเหลือทิ้งได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ฉลากที่ระบุคำว่า Expired Date (EXP) หมายถึง วันที่วัตถุดิบหมดอายุ หลังจากวันนั้นอาหารจะเน่าเสีย บูด หรือห้ามรับประทาน
ส่วนฉลากที่ระบุว่า Best Before (BB / BBE) หมายถึง ควรบริโภคก่อนวันที่ … ซุึ่งหากเลยวันที่กำหนด อาจทำให้คุณภาพหรือคุณค่าทางสารอาหารลดลง แต่ยังทานได้อยู่ ปลอดภัย
ขณะเดียวกัน ตามร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป มักจัดเรียงสินค้าในรูปแบบ First In First Out (FIFO) หรือวางสินค้าที่หมดอายุก่อนไว้ด้านหน้า สินค้าตัวไหนมาก่อนก็ต้องไปก่อน หากคุณหยิบสินค้าหรือวัตถุดิบชิ้นแรกตามที่ห้างจัดไว้ให้ ก็จะช่วยลดปัญหาขยะได้อีกทางหนึ่ง
3. รู้วิธีจัดเก็บวัตถุดิบอย่างถูกวิธี
วัตถุดิบแต่ละชนิด มีวิธีเก็บรักษาที่แตกต่างกันไป วัตถุดิบบางชนิดต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง บางชนิดต้องเก็บไว้ในตู้เย็น หรือวัตถุดิบบางอย่างกก็ต้องเก็บไม่ให้โดนแสงแดด
หากเจ้าของร้านหรือพนักงานร้าน รู้วิธีเก็บรักษาวัตถุดิบแต่ละประเภทได้อย่างถูกต้อง ก็จะช่วยยืดอายุและรักษาความสดใหม่ของวัตถุดิบนั้นๆ ได้
4. ควบคุมปริมาณอาหารแต่ละจานให้พอดี
หนึ่งในวิธีรับมือกับ Food Waste ที่ดีที่สุด ทั้งสำหรับร้านอาหารหรือคนที่ชอบทำอาหารทานเองที่บ้าน ก็คือ การจำหนดปริมาณอาหารแต่ละจานให้พอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป ไปจนถึงการควบคุมปริมาณอาหารให้พอดีกับจำนวนคน ก็จะช่วยลดปัญหาขยะเหลือทิ้งได้อีกด้วย
5. จัดสรรการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า
หรือหมายถึง การใช้วัตถุดิบทุกส่วนให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการฝึกให้พ่อครัวแม่ครัวรู้วิธีการจัดการวัตถุดิบให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด การหั่นผักหรือเนื้อโดยเก็บส่วนที่นำไปใช้ประกอบอาหารได้มากที่สุด
วัตถุดิบบางอย่างที่อาจนำไปปรุงเป็นอาหารไม่ได้ อาจลองสร้างสรรค์เป็นเมนูใหม่ๆ แทน อาทิ คางกุ้งทอดกรอบ หรือขนมข้าวพองจากข้าวก้นหม้อ
ขณะเดียวกัน ในทุกวันนี้ก็มีการนำอาหารเหลือทิ้งจากร้านอาหารมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ต่อได้ เช่น เปลือกกุ้ง ที่นำมาป่นและผสมกับอาหารไก่ ใช้เลี้ยงไก่ได้ รวมถึงเศษผักหรือเปลือกผบไม้ที่เหลือทิ้ง ก็นำไปหมักเป็นปุ๋ยต่อได้นั่นเอง
6. ตรวจเช็คอุปกรณ์เก็บรักษาวัตถุดิบ
เมื่อซื้อวัตถุดิบและนำมาเก็บรักษาไว้อย่างดีแล้ว เจ้าของร้านก็อย่าลืมตรวจเช็คอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บวัตถุดิบอย่างสม่ำเสมอ เช่น ตู้เย็น ตู้แช่ ตู้เก็บของด้วยนะครับ
การเช็คอุปกรณ์เหล่านี้บ่อยๆ นอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้วัตถุดิบเสียหายจากอุปกรณ์ชำรุดแล้ว ยังช่วยให้คุณสามารถเช็คสต๊อกวัตถุดิบคงเหลือได้อีกด้วย
7. คอยสังเกตปริมาณอาหารที่ลูกค้าทานเหลือ
การคอยสังเกตและจดบันทึกปริมาณอาหารที่ลูกค้าทานเหลือ จะทำให้เจ้าของร้านทราบว่า ควรบริหารจัดการขยะ (Waste) ที่เกิดจากการทานไม่หมดได้อย่างไรบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น หากปริมาณอาหารที่ยกกลับมามีเหลือมาก อาจเป็นเพราะอาหารในจานมีมากเกินไป อาจปรับลดลงมาให้พอดี หรือถ้าเป็นผักตกแต่งจานที่เหลือทิ้งเยอะ ก็อาจใช้ผักชนิดอื่นๆ ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทานได้ง่ายมาแทน
………………………………………..